ยอดการติดเชื้อรายใหม่ที่ลดลง ความพยายามที่จะเริ่มฟื้นฟูเศรษฐกิจ และแนวคิดที่ว่าคนไทยต้องอยู่ร่วมกับโควิด-19 ให้ได้ทำให้ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ประกาศผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์เพิ่มเติม ซึ่งเริ่มต้นในวันนี้ (1 ก.ย.)
เกาะติดข่าว กดติดตาม ข่าวสด
แม้จะมีการผ่อนคลายบางมาตรการบางอย่างลง แต่ ศบค. บอกว่าการดำเนินกิจการและกิจกรรมต่าง ๆ ในการคลายล็อกดาวรอบนี้จะคงอยู่ภายใต้มาตรการหลัก 2 ข้อ คือ 1) มาตรการป้องกันโรคส่วนบุคคลเพื่อป้องกันการติดเชื้อแบบบครอบจักรวาล (Universal Prevention)ซึ่งหมายถึงการป้องกันตัวเองขั้นสูงสุดตลอดเวลาเสมือนว่าทุกคนรวมทั้งตัวเองเป็นผู้ติดเชื้อ และ 2) มาตรการองค์กร “ปลอดโควิด” (Covid-free setting) ซึ่งประกอบด้วยการรักษาสุขอนามัย มีระบบระบายอากาศดี มีการเว้นระยะห่าง บุคลากรได้รับวัคซีนต้านโควิดครบตามเกณฑ์และได้รับการตรวจหาเชื้อด้วย ATK เป็นประจำ เป็นต้น
- นับถอยหลังคลายล็อกดาวน์ 1 ก.ย. ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อสะสมในไทยติดท็อป 20 ของโลก
- ศบค. อนุมัติผ่อนคลายล็อกดาวน์แต่ยังคงเคอร์ฟิว ให้นั่งกินที่ร้านได้แบบมีเงื่อนไข
- ลำดับเหตุการณ์ แผนที่ อินโฟกราฟิก ยอดติดเชื้อ-เสียชีวิตในไทยและทั่วโลก
รายละเอียดการผ่อนปรนมาตรการในครั้งนี้ปรากฏอยู่ในข้อกำหนดฉบับที่ 32 ตาม พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งระบุเหตุผลของการออกข้อกำหนดว่า “สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในปัจจุบัน ฝ่ายสาธารณสุขได้ประเมินว่าค่อนข้างทรงตัวและมีแนวโน้มคลี่คลายไปในทำงที่ดีขึ้น แม้จำนวนของผู้ป่วยอาการรุนแรงจะยังคงมีระดับสูงอันเป็นผลจากการสะสมของผู้ติดเชื้อในช่วงที่ผ่านมา แต่ผู้ติดเชื้อรายใหม่ในแต่ละวันมีจำ นวนลดลงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับผู้ที่ได้รับการรักษาพยาบาลจนหายป่วยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นด้วย”
บีบีซีไทยประมวลข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการคลายล็อกดาวน์ครั้งแรกในรอบเกือบ 2 เดือน ตามที่ปรากฏในข้อกำหนดนี้รวมทั้งประกาศของกรุงเทพมหานคร มาไว้ดังนี้
มีอะไรเหมือนเดิมบ้าง
การจัดกลุ่มจังหวัดตามระดับความรุนแรงและความเสี่ยงของสถานการณ์การระบาดยังคงเดิม โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มดังนี้
- พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด รวม 29 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร, กาญจนบุรี, ชลบุรี, ฉะเชิงเทรา, ตาก, นครปฐม, นครนายก, นครราชสีมา, นราธิวาส, นนทบุรี, ปทุมธานี, ประจวบคีรีขันธ์, ปราจีนบุรี, ยะลา, ระยอง, ราชบุรี, ลพบุรี, สงขลา, สิงห์บุรี, สมุทรปราการ, สมุทรสงคราม, สมุทรสาคร, สระบุรี, สุพรรณบุรี และอ่างทอง
- พื้นที่ควบคุมสูงสุด รวม 37 จังหวัด ประกอบด้วย กาฬสินธุ์, กำแพงเพชร, ขอนแก่น, จันทบุรี, ชัยนาท, ชัยภูมิ, ชุมพร, เชียงราย, เชียงใหม่, ตรัง, ตราด, นครศรีธรรมราช, นครสวรรค์, บุรีรัมย์, พัทลุง, พิจิตร, พิษณุโลก, มหาสารคาม, ยโสธร, ระนอง, ร้อยเอ็ด, ลำปาง, ลำพูน, เลย, ศรีสะเกษ, สกลนคร, สตูล, สระแก้ว, สุโขทัย, สุรินทร์, หนองคาย, หนองบัวลำภู, อุตรดิตถ์, อุทัยธานี, อุดรธานี, อุบลราชธานี และอำนาจเจริญ
- พื้นที่ควบคุม รวม 11 จังหวัด ประกอบด้วย กระบี่, นครพนม, น่าน, บึงกาฬ, พะเยา, พังงา, แพร่, ภูเก็ต, มุกดาหาร, แม่ฮ่องสอน และสุราษฎร์ธานี
อีกประการที่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงคือ มาตรการทำงานจากบ้านหรือ (work from home) และมาตรการเคอร์ฟิว หรือการห้ามออกจากเคหสถานตั้งแต่เวลา 21.00 – 04.00 น. ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ยังมีผลบังคับใช้ไปอย่างน้อย 14 วัน
สถานที่ใดบ้างที่ได้รับการผ่อนคลายจากมาตรการล็อกดาวน์
ร้านอาหารในพื้นที่ควบคุมสูงสุด และเข้มงวด
- ร้านอาหารที่อยู่นอกอาคารที่มีอากาศไหลเวียนได้ หรือในอาคารแต่ไม่มีเครื่องปรับอากาศ อนุญาตให้ลูกค้านั่งรับประทานในร้านได้ 75% ของพื้นที่
- ร้านอาหารที่เป็นห้องที่มีเครื่องปรับอากาศ รวมทั้งร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า ให้นั่งรับประทานได้ 50% ของพื้นที่
- เปิดให้บริการได้ไม่เกิน 20.00 น. งดการจำหน่ายและงดดื่มสุราในร้าน
ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า คอมมูนิตีมอลล์
อนุญาตให้เปิดได้ถึง 20.00 น. ทุกแผนกภายใต้มาตรการป้องกันโรคส่วนบุคคลเพื่อป้องกันการติดเชื้อแบบบครอบจักรวาลและมาตรการองค์กรตามหลักการ Covid-free setting
อย่างไรก็ตาม ยังมีกลุ่มกิจการที่สามารถเปิดได้แบบมีเงื่อนไข เช่น ร้านเสริมสวย ร้านตัดผมหรือแต่งผม สามารถให้บริการไม่เกิน 1 ชั่วโมงต่อคน ร้านนวด (เปิดได้เฉพาะนวดเท้า) คลินิกเสริมความงามให้เปิดสำหรับการจำหน่ายสินค้าเท่านั้น
กิจการที่ยังไม่เปิดให้บริการในห้างสรรพสินค้า ประกอบด้วย สถาบันกวดวิชา โรงภาพยนตร์ สปา สวนสนุก สวนน้ำ ฟิตเนส ห้องออกกำลังกายหรือสระว่ายน้ำ และห้องจัดประชุมสัมมนา
กิจกรรมเกี่ยวกับกีฬา
สนามกีฬาและสวนสาธารณะ รวมทั้งสนามกีฬาในที่ร่มที่เป็นที่โล่งอากาศถ่ายเทสะดวก ไม่มีระบบปรับอากาศเปิดบริการได้ โดยกำหนดระยะเวลาเปิดถึง 20.00 น. เท่านั้น ส่วนการแข่งขันกีฬาไม่อนุญาตให้มีผู้ชมในสนามและต้องจำกัดจำนวนคนที่เข้าร่วมเท่าที่จำเป็น
จำเป็นต้องมีเอกสารรับรองการปลอดเชื้อโควิด-19 หรือไม่
จากมาตรการองค์กร “ปลอดโควิด” (Covid-free setting) ที่ ศบค. กำหนด ซึ่งประกอบด้วยการรักษาสุขอนามัย มีระบบระบายอากาศดี มีการเว้นระยะห่าง บุคลากรได้รับวัคซีนต้านโควิดครบตามเกณฑ์และได้รับการตรวจหาเชื้อด้วย ATK เป็นประจำ รวมทั้งมีแนวคิดที่จะให้ประชาชนใช้หลักฐานการฉีดวัคซีนครบโดสหรือ “บัตรสีเขียว” หลังการติดโควิด-19 และมีภูมิคุ้มกันแล้วหรือ “บัตรสีเหลือง” และผู้ที่มีผลเป็นลบจากการตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจแอนติเจนแบบรู้ผลเร็ว (ATK) ภายใน 7 วัน เข้าใช้บริการกิจการต่าง ๆ ได้ในสถานประกอบการที่มีความพร้อม
ทำให้หลายคนมีคำถามเกี่ยวกับกรณีที่จะเข้าใช้บริการในห้างสรรพสินค้าหรือในร้านอาหารว่าจำเป็นต้องมีเอกสารยืนยันการได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ หรือเอกสารแสดงผลการตรวจหาเชื้อโควิด-19 หรือไม่ รวมทั้งกลุ่มผู้ประกอบการก็อาจมีข้อสงสัยว่าหากลูกจ้างยังไม่ได้วัคซีนครบทุกคนจะต้องทำอย่างไร
นพ. เศวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยในการแถลงข่าวเมื่อวานนี้ (31 ส.ค.) ว่าในส่วนของการฉีดวัคซีนให้บุคลากรครบทุกคนและการตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจ ATK ให้พนักงานเป็นประจำทุกสัปดาห์นั้นยังไม่ถือเป็นข้อบังคับ แต่พนักงานจะต้องปฏิบัติใช้มาตรการป้องกันส่วนบุคคล
“ส่วนพี่น้องประชาชนต้องแสดงบัตรหรือใบรับรองการฉีดวัคซีนไหม ก็ยังไม่ต้องแสดง ไม่ได้มีข้อบังคับไว้” นพ. เศวตสรรกล่าวย้ำ
หากต้องเดินทางข้ามจังหวัดต้องทำอย่างไร
แม้ว่าตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. ประชาชนในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัดจะสามารถเดินทางออกนอกพื้นที่ได้ และสายการบินก็เตรียมความพร้อมรองรับการเดินทางที่เพิ่มขึ้น แต่ ศบค. ขอก็ขอความร่วมมือให้หลีกเลี่ยงการเดินทางหรือเดินทางเมื่อมีเหตุจำเป็นเท่านั้น
ศบค. กำหนดให้ผู้ประกอบการขนส่งจำกัดอัตราบรรทุกผู้โดยสารต้องไม่เกิน 75% และผู้โดยสารต้องสวมหน้ากากตลอดเวลา ห้ามรับประทานอาหารระหว่างการเดินทาง สำหรับรถโดยสารหรือรถตู้ระยะทางไกลควรแวะพักทุก 2-3 ชั่วโมงเพื่อระบายอากาศ
การเดินทางไปทำงานของแรงงาน ต้องใช้เส้นทางที่กำหนดและห้ามออกนอกเส้นทาง (seal route) ตามมาตรการ bubble and seal ที่ให้แรงงานทำงาน เดินทางและใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่เฉพาะ
ส่วนผู้โดยสารที่ต้องการเดินทางด้วยเครื่องบิน จำเป็นต้องตรวจสอบมาตรการของแต่ละจังหวัดปลายทางที่เว็บไซต์ ศบค. กระทรวงมหาดไทย พร้อมกับการเตรียมเอกสารประกอบการเดินทางอย่างใดอย่างหนึ่ง อาทิ
- เอกสารยืนยันการได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ หรือ ให้แสดงผลการฉีดวัคซีนที่ได้รับจากโรงพยาบาล หรืออาจใช้หลักฐานจากแอปพลิเคชันหมอพร้อม เพื่อแสดงต่อเจ้าหน้าที่ได้
- เอกสารแสดงผลการตรวจหาเชื้อโควิด-19 โดยวิธี RT-PCR หรือ Antigen Test Kit (ATK)
- เอกสารที่แสดงถึงการได้รับการยกเว้น ตามที่จังหวัดปลายทางกำหนด เช่น ผู้ที่เคยติดเชื้อมาแล้วไม่เกิน 90 วัน ผู้ผ่านการกักตัวแล้ว หรือผู้โดยสารตามโครงการพื้นที่นำร่องเปิดประเทศ (Sandbox)
…………..
ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ข่าวสด เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว