แม่น้ำโขงมาจากไหน
จุดกำเนิดแม่น้ำโขงมาจากที่ราบสูงทิเบต เกิดจากการละลายของน้ำแข็งและหิมะที่ปกคลุมตอนเหนือของประเทศทิเบตและมณฑลชิงไห่ของประเทศจีน แม่น้ำโขงที่ไหลผ่านประเทศจีนเข้าสู่ประเทศไทย เกิดเป็นจุดตัดทางธรรมชาติแบ่ง 3 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และประเทศไทย บริเวณนี้เรียกว่า สามเหลี่ยมทองคำ ที่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย
แม่น้ำโขงไหลผ่านประเทศใดบ้าง
แม่น้ำโขงไหลผ่าน 6 ประเทศ ได้แก่
- ประเทศจีน
- สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา
- สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
- ประเทศกัมพูชา
- ประเทศเวียดนาม
แม่น้ำโขงติดจังหวัดอะไรบ้าง
แม่น้ำโขงติดจังหวัดในภาคอีสาน เป็นพรมแดนธรรมชาติกั้นระหว่างประเทศไทยและประเทศลาว มีลุ่มน้ำสาขา 29 สาขา ผ่าน 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี เป็นระยะทาง 1,520 กิโลเมตร แล้วไหลเข้าสู่ สปป.ลาว และกัมพูชา ก่อนไหลลงสู่ทะเลจีนใต้ที่ประเทศเวียดนาม รวมความยาวทั้งสิ้น 4,880 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่รับน้ำในลุ่มน้ำ 795,000 ตารางกิโลเมตร หรือ 496.875 ล้านไร่
ดูจำนวนลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำโขงทั้งหมดได้ ที่นี่
แม่น้ำโขงลึกเท่าไร
จุดที่ลึกที่สุดของแม่น้ำโขง เรียกว่า สะดือแม่น้ำโขง เรียกว่า “แก่งอาฮง” ตั้งอยู่ที่ หน้าวัดอาฮงศิลาวาส ต.หอคำ อ.เมือง จ.บึงกาฬ ห่างจากตัวเมืองจังหวัดบึงกาฬ เป็นระยะทาง 21 กิโลเมตร ยังไม่สามารถระบุความลึกได้อย่างแน่ชัด เนื่องจากกระแสน้ำเชี่ยวมาก และมีกระแสน้ำไหลวน จึงเรียกว่าเป็นสะดือแม่น้ำโขง สืบเนื่องกับตำนานของแม่น้ำโขง
ตำนานแม่น้ำโขงเกี่ยวกับสะดือแม่น้ำโขง เล่าว่ามีถ้ำใต้น้ำและโขดหินขนาดใหญ่อยู่ระหว่างวัดอาฮงศิลาวาส และฝั่งประเทศลาว จะเป็นที่ชุมนุมของเหล่าพญานาคในช่วงเทศกาลวันออกพรรษา ชาวไทยริมแม่น้ำโขงจึงทำบุญวันออกพรรษาเพื่อเป็นพุทธบูชาร่วมกับพญานาค และแต่ละปีก็มีบั้งไฟพญานาคผุดขึ้นมาเป็นจำนวนมาก
แม่น้ำโขงยาวเท่าไร
แม่น้ำโขงมีความยาว 4,900 กิโลเมตร หรือ 3,000 ไมล์
แม่น้ำโขงกว้างเท่าไร
ความกว้างของแม่น้ำโขงในแต่ละพื้นที่ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับความคดเคี้ยวในแต่ละลุ่มลำน้ำ เมื่อวัดตามระยะความยาวของสะพานมิตรภาพไทย-ลาวซึ่งข้ามผ่านแม่น้ำโขง ทั้ง 3 แห่ง จะพบว่าแม่น้ำโขงมีความกว้างประมาณ 1.3 – 1.6 กิโลเมตร
- สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 ยาว 1.17 กิโลเมตร
- สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 ยาว 1.60 กิโลเมตร
- สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 ยาว 1.42 กิโลเมตร
ความสำคัญของแม่น้ำโขง
แม่น้ำโขงมีความยาวติด 10 อันดับแม่น้ำที่ยาวที่สุดในโลก แม่น้ำโขงถือเป็นแม่น้ำสายวัฒนธรรมหล่อเลี้ยงชุมชนลุ่มแม่น้ำโขง มีภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับแม่น้ำโขงหลายเรื่องที่เล่าขานวัฒนธรรม ประเพณี ความเป็นอยู่ของประชากรลุ่มแม่น้ำโขง นอกจากนี้นักชีววิทยายังพบว่าลุ่มแม่น้ำโขงเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์นานาชนิด มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ได้แก่
- สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 430 ชนิด
- สัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 800 ชนิด
- ปลาน้ำจืด 1,100 ชนิด
และยังมีสัตว์สายพันธุ์ใหม่ๆ ที่ยังรอการค้นพบอีกมากมาย
ปลาแม่น้ำโขง
ปลาที่พบในแม่น้ำโขง ได้ถูกค้นพบกว่า 1,200 ชนิด และคาดว่ามีสายพันธุ์ที่ยังไม่พบอีกนับร้อยสายพันธุ์ ทั้งปลากระดูกอ่อน และปลากระดูกแข็ง อาทิ ปลาบึก, ปลาลิง, ปลาโจก, ปลากดคัง, ปลาลิ้นหมา, ปลาซิว, ปลายี่สก, ปลาเกล็ดถี่, ปลาหมู, ปลาสวาย, ปลาสังกะวาด, ปลาดุก, ปลาฉนาก, ปลาฉลามหัวบาตร เป็นต้น
อย่างไรก็ดี “แม่น้ำ” ถือเป็นสายน้ำแห่งชีวิต หล่อเลี้ยงทั้งสัตว์น้อยใหญ่ พื้นที่ชุ่มน้ำ และลุ่มน้ำต่างๆ ก็เป็นแหล่งกรองน้ำ กรองอากาศให้บริสุทธิ์ ป่าไม้ช่วยปกปักมนุษย์จากภัยธรรมชาติ แม่น้ำโขงถือว่าหล่อเลี้ยงผู้คนมากกว่า 60 ล้านชีวิต ในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขงที่ติดประเทศไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม รวมถึงเป็นแหล่งประมงน้ำจืดที่ทำรายได้นับแสนล้านบาทต่อปี.