เลขาฯสมช.ชงศบค.เคาะ “ผับ-บาร์-เกะ” ลุ้นเปิด 1 ธ.ค.นี้ พบ 9 จว.ฉีดวัคซีนต่ำกว่า 50%-ชาวบ้านขอเกี่ยวข้าวก่อน
เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) ให้สัมภาษณ์ถึงมาตรการผ่อนคลายกิจการ กิจกรรม เพิ่มเดือนธันวาคม จะผ่อนคลายผับ บาร์ คาราโอเกะหรือไม่ เมื่อวันที่ 19 พ.ย.ที่ผ่านมาว่า วันที่ 17 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ตัวแทนผู้ประกอบการผับ บาร์ คาราโอเกะ รวมถึงศิลปินนักร้องได้ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้หารือกับตน มีข้อมูลตรงกับที่รัฐบาลกำลังแก้ปัญหาอยู่
เขาขอให้รัฐบาลพิจารณาเลื่อนการเปิดกิจการกิจกรรมให้เร็วขึ้น พร้อมทั้งเสนอมาตรการที่เราต้องการ ตนจะนำข้อมูลเหล่านี้เข้าที่ประชุม ศปก.ศบค. ระหว่างการพูดคุยตนได้ชี้แจงว่า พล.อ.ประยุทธ์เป็นห่วงห่วงโซ่ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ไม่ว่าจะผู้ประกอบการ นักดนตรี ผู้ขายวัตถุดิบ ทุกอย่างเป็นห่วงโซ่ นายกฯเคยมีบัญชา ซึ่งเราคิดกันมาหลายรอบแล้วเพียงแต่สถานการณ์ที่ผ่านมาไม่อำนวยให้อนุญาตเปิดกิจการได้ภายในวันที่ 1 ธันวาคม 2564 ตามที่นายกฯตั้งใจ
แต่กรณีผู้ประกอบการแสดงความจำนงจะให้ความร่วมมือและจะไปเตรียมการ จะนำเรื่องนี้กราบเรียนนายกฯและนำเข้าสู่ที่ประชุมต่อไป แนวโน้มน่าจะเป็นในทิศทางที่ดี เพราะเงื่อนไขผู้ประกอบการเสนอมาทั้งการเตรียมความปลอดภัยสถานที่ ความปลอดภัยบุคลากร เตรียมระบบบริการ และเงื่อนไขสำหรับผู้เข้าบริการเป็นสิ่งที่ดีมาก
เมื่อถามว่าจะเลื่อนการเปิดสถานประกอบการ ผับ บาร์ เร็วกว่าวันที่ 16 มกราคม 2565 หรือไม่ พล.อ.สุพจน์กล่าวว่า หากที่ใดมีความพร้อมถือว่ามีโอกาส ขึ้นอยู่กับที่ประชุม ศปก.ศบค.จะรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นและการพิจารณาของ ศบค.ชุดใหญ่ เมื่อถามย้ำว่าจะทันวันที่ 1 ธันวาคมหรือไม่ พล.อ.สุพจน์กล่าวว่า ยัง วันที่ 1 ธันวาคม น่าจะยังไม่ทัน แต่ขอดูข้อมูลก่อน เพราะถ้าหากติดตามจะเห็นว่ามีการกำหนดหลักเกณฑ์ไว้เรียบร้อยว่าสถานประกอบการประเภทนี้ถ้าจะเปิดจะต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง และได้แจ้งให้ กทม.รวมถึงทุกจังหวัดไปตรวจประเมินให้ผู้ประกอบการมาลงทะเบียนแจ้งความประสงค์และจัดทีมไปตรวจ
ถ้ามีความพร้อมก็ให้ขึ้นบัญชีไว้ การประชุม ศปก.ศบค.สัปดาห์หน้าจะได้เห็นตัวเลขว่าแต่ละจังหวัดมีความประสงค์ มีความพร้อมอย่างไร และจะเสนอให้ ศบค.ชุดใหญ่พิจารณาก่อนวันที่ 1 ธันวาคม ส่วนผลจะเป็นอย่างไรคงต้องรอดู การดำเนินการต่างๆ จะสอดคล้องกับการเปิดประเทศ เนื่องจากแผนการเปิดประเทศมีแผนผ่อนคลายกิจการต่างๆ นายกฯชื่นชมความร่วมมือภาคประชาชนที่สะท้อนผ่านตัวเลขผู้ติดเชื้อแต่ตนดูแล้วทิศทางน่าจะเป็นทิศทางที่ดี ในส่วนของสถานบันเทิงลักลอบเปิด ได้สั่งไปว่าหากพบการฝ่าฝืนให้ปิด เพื่อไม่ให้กระทบภาพรวม แต่ถ้าอยู่ในเกณฑ์ตักเตือนให้ปรับปรุงได้ก็จะดำเนินการ
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีสังคมตั้งข้อสงสัยยอดการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของไทย ลดน้อยลง หรือมีอัตราการฉีดชะลอตัวในระยะหลังๆ นั้นว่า สาเหตุหนึ่งเกิดจาก ก่อนหน้านี้ สธ.ได้ให้บริการวัคซีนแก่ประชาชนไปได้จำนวนมากแล้ว แต่มีบางกลุ่มยังไม่ได้รับ
“ในนั้นจะมีกลุ่มปฏิเสธการรับวัคซีนด้วยเหตุผลต่างๆ และยึดมั่นในความเชื่อนี้ เป็นกลุ่มฮาร์ดคอร์ เป็นสิทธิของท่าน แต่ก็เป็นหน้าที่ของเราในการระดมบุคลากรในภาคส่วนต่างๆ ไปชี้แนะข้อเท็จจริง ทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ ขอย้ำว่าการฉีดวัคซีนมีประโยชน์ ช่วยป้องกันการป่วยหนัก และป้องกันการสูญเสียได้จริง ส่วนที่บอกว่ามียอดตกหล่น ไม่ได้รับวัคซีนถึง 11 ล้านคนนั้น
สธ.รับทราบตลอด พยายามเร่งระดมฉีดให้ครอบคลุม ปัจจุบันตัวเลขผู้ยังไม่ได้ฉีดเหลือน้อยกว่า 11 ล้านคนแล้ว อาจจะเหลืออยู่ประมาณ 5-8 ล้านคน และตัวเลขนี้จะน้อยลงทุกนาที เพราะเรารุกฉีดถึงพื้นที่ ขอย้ำว่า สธ.มีภารกิจสำคัญคือ การเร่งฉีดวัคซีน เราดำเนินการเชิงรุกอย่างสุดความสามารถ” นพ.โอภาสกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบข้อมูลระบบหมอพร้อม วันที่ 19 พฤศจิกายน 2564 พบว่ามีทั้งหมด 9 จังหวัด ยังฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากรยังไม่ถึงร้อยละ 50 ได้แก่ นครพนม สกลนคร หนองบัวลำภู บึงกาฬ กาฬสินธุ์ นราธิวาส ปัตตานี แม่ฮ่องสอน และตาก ในจำนวนนี้ พบว่ามี 4 จังหวัด อยู่ในเขตสุขภาพที่ 8 ได้แก่ นครพนม สกลนคร หนองบัวลำภู และบึงกาฬ
นพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ ผู้ตรวจราชการ สธ. เขตสุขภาพที่ 8 กล่าวว่า ล่าสุดจังหวัดประชุมติดตามกันทุกวัน
“ระยะนี้ฉีดให้กับคนทั่วไปทุกกลุ่ม เป็นการบริหารของแต่ละพื้นที่ เช่น บางอำเภอมีการสุ่มแจกทอง แจกวัว ให้คนรับวัคซีนในแต่ละวัน ได้รับการตอบรับดีมาก แต่ขึ้นอยู่กับความพร้อมของพื้นที่ต่างๆ ความยากของการฉีดในกลุ่มดังกล่าว คือ ช่วงนี้เป็นฤดูเกี่ยวข้าว เขาก็ต่อรองว่าขอเกี่ยวข้าวให้เสร็จก่อน เพราะกลัวว่าฉีดแล้วจะเกี่ยวข้าวไม่ได้ เราก็เข้าใจวิถีชีวิตเขา” นพ.ปราโมทย์กล่าว
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก
Line @Matichon ได้ที่นี่