วันศุกร์ ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2564, 06.00 น.
ผวา‘โอมิครอน’ถล่มกรุงเทพฯ
กทม.สั่งยกเลิก
เคาท์ดาวน์ปีใหม่-สวดมนต์ข้ามปี
50เขตห้ามจัดกิจกรรมฉลอง
วอนเอกชนงดจัดเคาท์ดาวน์
ถ้ายังเดินหน้าต้องดูแลเข้มข้น
ติดเชื้อรายวัน2,940-ดับ30ศพ
ติดโควิด-19 รายวัน 2,940 คน มาจากต่างประเทศ 57 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 30 ศพ ภาพรวมติดเชื้อ 73 จังหวัดมี 4 จังหวัดไม่พบผู้ป่วยเพิ่ม ยอดฉีดวัคซีนทะลุ 101 ล้านโดสกทม.ยังรั้งที่ 1 ส่วนบึงกาฬแซงขึ้นอันดับ 5 ขณะที่ “อนุทิน” ยันเอาผิดชายชาวอิสราเอลที่หนีกักตัว พร้อมยกระดับมาตรการสกัดโอมิครอน ด้านกทม.แถลงยกเลิกจัดงานปีใหม่-สวดมนต์ข้ามปี และกิจกรรมทั้งหมด 50 เขต ส่วนเอกชนขอความร่วมมืองดเคาท์ดาวน์ ถ้าไม่ได้ให้ตรวจคัดกรองเข้มคนเข้างานสกัดแพร่ระบาด นายกฯกำชับทุกหน่วยงานเคร่งครัดมาตรการคุมระบาด ตั้งเป้าปี 65 ปีแห่งการฉีดวัคซีนบูสเตอร์ให้คนไทย
เมื่อวันที่ 23ธันวาคม ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รายงานสถานการณ์ติดเชื้อโควิด-19 โดยประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 24 โดยมีผู้ติดเชื้อสะสม 2,202,001 ราย
ติดเชื้อเพิ่ม2,940-ตาย30ราย
สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทยวันนี้ มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม 2,940 ราย เป็นผู้ป่วยใหม่ 2,705ราย ค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 125 ราย จากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 53 ราย จากผู้เดินทางจากต่างประเทศ 57 ราย มีผู้ป่วยยืนยันสะสม 2,173,138 ราย หายป่วยวันนี้ 2,798 ราย หายป่วยสะสม 2,114,760 ราย รักษาอยู่ 38,314 ราย อยู่ในโรงพยาบาล 19,829 ราย โรงพยาบาลสนามและอื่นๆ 18,485 ราย อาการหนัก 854ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 227 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 30 ราย มียอดเสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 21,407 ราย เป็นชาย 15 ราย หญิง 15 ราย คนไทย 30 ราย เป็นผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 21 ราย มีโรคเรื้อรัง 6 ราย ไม่มีประวัติโรคเรื้อรัง 3 ราย
ติดเชื้อมาจากตปท.57คน
ในจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่วันนี้ เป็นผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 57 ราย มาจากประเทศอียิปต์ 1 ราย สัญชาติไทย สหราชอาณาจักร 10 ราย สัญชาติไทย และอังกฤษ อิตาลี 1 ราย สัญชาติไทยรัสเซีย 1 ราย ซาอุดิอาระเบีย 7 ราย สัญชาติไทย สหรัฐอเมริกา 9 ราย สัญชาติอเมริกันและไทย ไนจีเรีย 2 ราย สัญชาติอังกฤษและไนจีเรีย เดนมาร์ก 2 ราย ฮังการี 2 ราย อินโดนิเซีย 1ราย สิงคโปร์อ 3 ราย สัญชาติเยอรมัน นอร์เวย์ 2 ราย สัญชาตินอร์เวย์และรัสเซีย ไอซ์แลนด์ 1 ราย แคนาดา 1 ราย ฟินแลนด์ 1 รายสัญชาติเอสโตเนีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 3 ราย สัญชาติไทยและอาหรับเอมิเรตส์ ฝรั่งเศส 1 ราย สเปน 1 ราย ออสเตรเลีย 1 รายสัญชาติสิงคโปร์ โปแลนด์ 2 ราย ญี่ปุ่น 1 ราย สัญชาติอเมริกันและไทย สวีเดน 2 ราย สัญชาติไทยและสวีเดน เมียนมา 2 ราย สัญชาติไทย ผ่านพรมแดนทางบก โดยทั้งหมดกระจายอยู่ในระบบTest&Go สุราษฎร์ธานี ชลบุรี กทม. สงขลา นนทบุรี กระบี่ ภูเก็ต สมุทรปราการ ระบบ AQ ภูเก็ต กทม. LQ เชียงราย สมุยพลัส แซนด์บ็อกภูเก็ต พังงา
3จว.ไม่พบอ-บึงกาฬขึ้นอันดับ5
ภาพรวมการติดเชื้อทั้งประเทศวันนี้พบผู้ติดเชื้อ 73 จังหวัด มี 4 จังหวัดไม่พบคือ พิจิตร อุตรดิตถ์ พะเยา แพร่ สำหรับ 10 อันดับติดเชื้อใหม่สูงสุด มี 10 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ 432 ราย สะสม 436,892 ราย นครศรีธรรมราช 227 ราย สะสม 46,764 ราย ชลบุรี 182 ราย สะสม 111,320 ราย สมุทรปราการ 171 ราย สะสม 131,576 ราย บึงกาฬ 95 ราย สะสม 2,807 ราย สงขลา 86 ราย สะสม 65,001 ราย ศรีสะเกษ 79 ราย สะสม 17,952 ราย เชียงใหม่ 68 ราย สะสม 28,556 ราย ปัตตานี 65 ราย สะสม 48,092 ราย สุราษฎร์ธานี 64 ราย สะสม 28,211ราย
ฉีดวัคซีนสะสมพุ่ง101ล้านโดส
ศบค.ยังเปิดเผยผลสรุปการฉีดวัคซีนทั้ง 77 จังหวัด เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม ฉีดได้ 463,737 โดส แยกเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 82,409 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 166,260 ราย และเข็มที่3 จำนวน 215,068 ราย ทำให้ยอดสะสมตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์- 22 ธันวาคม มียอดสะสม 101,079,615 โดส แยกเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 50,768,299 ราย คิดเป็น 70.5% ของประชากร เข็มที่ 2 จำนวน 44,819,727 ราย คิดเป็น 62.2%ของประชากร และเข็ม 3 จำนวน 5,491,589 ราย คิดเป็น 7.6% ของประชากร
ฟันยิวหนีกักตัว-จี้รร.รับผิดชอบ
ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุขกล่าวถึงกรณี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนักท่องเที่ยวชาวอิสราเอลติดเชื้อหนีการกักตัวว่า ต้องดำเนินคดี เรื่องนี้สืบสวนแล้วพบว่า นักเดินทางคนนี้ไม่ยอมรอผลตรวจ แล้วเดินทางไปตามสถานที่ต่าง ๆ เท่ากับละเมิดกฎหมายในประเทศไทยแล้ว โทษเป็นอย่างไรว่าไปตามนั้น กรณีแบบนี้ หากติดเชื้อโควิด ทางการจะรักษาให้ตามสิทธิ์ประกันสุขภาพที่เขาซื้อไว้ก่อนเดินทางเข้ามา เมื่อรักษาหายต้องรับโทษที่ก่อไว้ แต่ถ้าไม่ติดเชื้อ ต้องถูกลงโทษอยู่ดี เรื่องนี้ สาระคือ เขาทำผิดกฎหมายประเทศไทย อีกเรื่องคือ โรงแรมก็ต้องรับผิดชอบว่าทำไม ปล่อยให้ออกมา ทั้งที่ยังไม่ได้รับผล เราต้องมาดูมาตรการว่ามีช่องโหว่ตรงไหนแล้วรีบอุด อย่ามองว่าเป็นเรื่องเล็ก เพราะนี่คือเคสเดียว แต่ถ้ามี 50 เคส รับรองว่าวุ่นวายมหาศาล
พร้อมยกระดับมาตรการสกัดโอมิคอน
สำหรับการควบคุมโรคระบาด กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำชับทุกคนยึดถือแนวทางชื่อว่า DUKE ซึ่ง D คือ Determination = ความตั้งใจรักษาวินัยของตัวเอง U คือ Universal Prevention คือ การป้องกันโรคในชีวิตประจำวันK = Knowledge คือ รู้จักโรค มีความรู้ในการรับมือกับโรค E = Emerge หรือความพยายามแก้ปัญหา แต่ต้องไม่จมกับปัญหา ต้องรู้ทางแก้อย่างแจ่มแจ้งชัดเจน บุคลากรการแพทย์ น่าจะเข้าใจหลักการเหล่านี้ดีทุกคน ประชาชนช่วยกัน เราสามารถจัดการโรคระบาดได้ เรื่องโอมิครอนชัดเจนว่าวัคซีนป้องกันความรุนแรงของโรคไปจนถึงการเสียชีวิตได้ ขอให้ประชาชนรีบไปฉีด ขณะที่ผู้ประกอบการ ขอให้ตระหนักว่ารัฐผ่อนคลายแล้ว ขอให้ช่วยเราด้วย อย่าฝ่าฝืน เพราะเราไม่นิ่งนอนใจ และตัดสินใจเร็ว อย่างกรณีจ.สุรินทร์ เมื่อทราบปัญหา ก็ต้องยุติกิจกรรม สำหรับประชาชนที่มาร่วมงานต้องปฏิบัติตามมาตรการ ซึ่งออกมาก็เพื่อรักษาชีวิตทุกคน ไปจนถึงเป็นการช่วยเหลือประเทศ
“คนไทยที่มีแผนจะเดินทางไปต่างประเทศ ขอย้ำว่า ถ้าระหว่างที่พำนักอยู่ประเทศนั้น แล้วประเทศดังกล่าวระบาดมากๆ ทางการไทย ก็ต้องปรับมาตรการ การเดินทางกลับบ้านของท่าน อาจมีขั้นตอนเพิ่มเข้ามา ก็ต้องขอให้เข้าใจรัฐเช่นกัน จะเห็นว่าที่ผ่านมา เราปรับมาตรการคัดกรอง ตรวจเชื้อ กักตัวกันอยู่เรื่อย ให้ทันการระบาดของโรค”นายอนุทินกล่าว
นทท.ยิวติดโอมิครอนแต่เชื้อน้อยแพร่ยาก
ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขกล่าวถึงกรณีนักท่องเที่ยวชาวอิสราเอลหลบหนีออกจากระบบ โดยไม่รอผลการตรวจหาเชื้อโควิด ต่อมาโรงพยาบาลสมุยเก็บตัวอย่างตรวจในห้องปฎิบัติการสองแห่งผลเป็นลบนั้น ขอชี้แจงว่า นักท่องเที่ยวรายนี้เข้าประเทศไทยผ่านระบบ Test & Go มีรพ.คู่สัญญาเก็บตัวอย่าง สิ่งที่ส่งตรวจพบผลเป็นบวก ของเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม ดังนั้น ตามเกณฑ์จึงส่งตรวจหาสายพันธุ์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม ซึ่งวิธีตรวจเบื้องต้นพบเป็นเชื้อโอมิครอน หลังจากนั้นได้ตรวจรหัสพันธุกรรมทั้งตัวมีผลยืนยันวันที่ 22 ธันวาคมเป็นสายพันธุ์โอมิครอนเช่นกัน แต่หลังจากนั้นชาวอิสราเอลรายนี้ก็หายไป 2-3 วัน แล้วไปโผล่ที่เกาะสมุย รพ.สมุย เก็บสิ่งส่งตรวจและตรวจยืนยันผลด้วยแลบ 2 แห่ง พบว่าผลเป็นลบ ทั้งนี้ ปกติคนมีเชื้อมากจะปั่นเชื้อไม่กี่รอบก็ตรวจเจอเชื้อได้ กรณีนักท่องเที่ยวที่ปั่นถึง 30 วงรอบแล้วยิ่งไปถึงสมุยอีก 2-3 วัน เชื้อยิ่งเหลือน้อยจึงตรวจไม่เจอ ดังนั้น จึงค่อนข้างสบายใจว่าโอกาสแพร่เชื้อมีน้อย แต่ยังติดได้ ขณะนี้ถือว่านักท่องเที่ยวรายนี้ผลเป็นลบแล้ว แต่มีความผิดตามพ.ร.บ.โรคติดต่อ
ลุ้นผลตรวจเชื้อรอบ3ยืนยัน
อย่างไรก็ตาม รพ.สมุยส่งมาตรวจเพิ่มที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์สุราษฎร์ธานี คาดว่าผลน่าจะออกช่วงบ่ายวันนี้ ซึ่งตนกำชับให้ตรวจด้วยวิธีที่ต่างกับแลบ 2 แห่งแรก
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีตรวจเจอเชื้อจากการปั่นวงรอบสูงๆ อาจแปลได้ว่าเพิ่งเริ่มติดเชื้อ หรือเป็นเพราะขาลงหรือหายแล้ว ในรายนี้เหตุใดจึงวิเคราะห์ว่าเป็นช่วงขาลง นพ.ศุภกิจชี้แจงว่า ถ้าตรวจพบครั้งแรกให้ผลเป็นลบ แล้วตรวจรอบหลังให้ผลเป็นบวก กรณีนี้เป็นช่วงขาขึ้น แต่หากตรวจครั้งแรกเป็นบวก แล้วมาตรวจรอบหลังเป็นลบ กรณีเช่นนี้ถือเป็นช่วงขาลง ในรายของนักท่องเที่ยวอิสราเอลจึงค่อนข้างชัด ตรวจที่บ้านเขาก่อนเข้าไทยแล้วไม่เจอ พอมาถึงไทยตรวจรอบแรกเจอ แปลว่าเป็นขาขึ้นระยะหนึ่ง แต่หลังจากนั้นก็ตรวจเจอว่าเป็นลบแสดงว่าอยู่ในช่วงขาลง
สธ.ทำบุญให้ผู้เสียชีวิตจากโควิด-19
วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศาลาพระธรรมโกศาจารย์ วัดพุทธปัญญา จังหวัดนนทบุรี กระทรวงสาธารณสุข นำโดย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขจัดพิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลแด่ผู้เสียชีวิตจากเชื้อโควิด -19 ในประเทศไทยทุกราย โดยนพ.เกียรติภูมิกล่าวหลังทำบุญว่า วันนี้ฉีดวัคซีนได้ครบ 101 ล้านโดส เป็นการสร้างความปลอดภัยของประเทศ แต่ในการระบาด 2 ปีที่ผ่านมา มีคนป่วยเสียชีวิตมากกว่า 2 หมื่นราย สธ.เสียใจต่อการเสียชีวิตที่ผ่านมา ซึ่งในจำนวนนี้เป็นบุคลากรสาธารณสุขประมาณ 20 ราย อสม. 38 ราย ทั้งนี้ หวังว่าทุกคนจะผ่านวิกฤติครั้งนี้ไป และรีสตาร์ทการทำงานกันใหม่
ย้ำเชื้อไม่แรงเท่าเดลตาแต่แพร่เร็ว
สำหรับการเริ่มระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนนั้น ยังดูแลได้ ข้อสรุปตอนนี้คือ ความรุนแรงไม่มากกว่าเดลตา อาจแพร่เร็วกว่า แต่ยังอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ ซึ่งเตียงมีอยู่ประมาณ 2 แสนเตียง ใช้ไป 3 หมื่นเตียง อย่างไรก็ตาม สธ.ประชุมเมื่อวันที่ 22 ธันวาคมยกระดับควบคุม ป้องกันโรค และมอบให้กรมควบคุมโรค จำลองการคาดการณ์การระบาดของเชื้อโอมิครอนด้วย จะได้ข้อสรุปวันที่ 27 ธันวาคม และวางแผนรองรับทั้งรักษา ป้องกัน ขอย้ำว่า จากข้อมูลเบื้องต้นกรมควบคุมโรครายงานเข้ามาคือ โอมิครอนความรุนแรงไม่น่ามากกว่าเดลต้า
กทม.ยกเลิกจัดงานปีใหม่ทุกกิจกรรม
ขณะที่นายเกรียงยศ สุดลาภา รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงข่าวยกเลิกการจัดงานเฉลิมฉลองวันขึ้นปีใหม่และกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี ประจำปี 2565 ซึ่งเดิมเตรียมการจัดงานระหว่างวันที่ 31 ธันวาคม 2564 – 1 มกราคม 2565 บริเวณลานคนเมือง ศาลาว่าการกทม.(เสาชิงช้า) โดยยึดปฏิบัติตามแนวทางของที่ประชุม ศบค. ล่าสุดวันนี้(23 ธันวาคม) ซึ่งมีมติให้กรุงเทพมหานครงดการจัดกิจกรรมปีใหม่ทั้งหมด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดและลดความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 โดยเฉพาะสายพันธุ์โอมิครอนที่แพร่ระบาดเร็วมาก ซึ่งกรุงเทพมหานครงดจัดกิจกรรมปีใหม่ของทุกหน่วยงานทั้ง 50 เขต รวมถึงกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปีและพิธีทำบุญตักบาตรวันปีใหม่
ขอความร่วมมือเอกชนงดจัดงาน
ทั้งนี้ ในส่วนภาคเอกชนที่เตรียมจัดงานปีใหม่ไว้แล้ว กรุงเทพมหานครขอความร่วมมือให้งดจัดงาน แต่หากยังต้องจัดงาน ต้องเข้มข้นในมาตรการป้องกันการระบาดโควิดมากยิ่งขึ้น และต้องจำกัดจำนวนคนเข้าร่วมงานเพื่อควบคุมได้ โดยเท่าที่ขออนุญาตกรุงเทพมหานครจัดงานใหญ่ มี 2 จุด ได้แก่ ไอคอนสยาม และเซ็นทรัลเวิลด์
“หลังองค์การอนามัยโลก (WHO) ออกมาเรียกร้องให้ผู้คนยกเลิกแผนวันหยุดบางส่วนเพื่อปกป้องระบบสาธารณสุข ซึ่งมีหลักฐานว่าโควิดสายพันธุ์โอมิครอน แพร่ระบาดเร็วกว่าสายพันธุ์เดลต้าอย่างมีนัยสําคัญ ประกอบกับสถานการณ์ระบาดในไทยระบาดอย่างรวดเร็วของสายพันธุ์โอมิครอน ที่มีผู้เข้าข่ายติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน มากกว่า 100 ราย เพื่อป้องกันการระบาดและลดความเสี่ยงติดเชื้อ กรุงเทพมหานครจึงต้องยกเลิกการจัดกิจกรรมทั้งหมด ฝากถึงประชาชนให้เข้มข้นมาตรการป้องกันโรคแบบครอบจักรวาล และหลีกเลี่ยงไม่ไปที่มีคนรวมตัวจำนวนมาก แนะให้สวดมนต์ข้ามปีอยู่ที่บ้านงดจัดกิจกรรม สังสรรค์และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ แต่สามารถกินเลี้ยงสังสรรค์ที่บ้านได้ภายใต้มาตรการป้องกันอย่างเข้มงวด”นายเกรียงยศกล่าว
ตั้งเป้าปี65ปีแห่การฉีดวัคซีนบูสเตอร์
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมย้ำให้หน่วยงานด้านสาธารณสุขและตำรวจเพิ่มความถี่และความเข้มข้นในการเฝ้า ระวังติดตามนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ หรือคนไทยที่เดินทางกลับเข้าประเทศ ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขเข้าประเทศและมาตรการสาธารณสุขที่กำหนด ซึ่งนายกฯในฐานะผอ. ศบค. ดำเนินทุกมาตรการเพื่อป้องกันชะลอการระบาด ขณะเดียวกัน ก็เร่งฉีดวัคซีนต่อเนื่อง ทั้งฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในกลุ่มเป้าหมาย กลุ่มเปราะบาง รวมทั้งให้ทำความเข้าใจกลุ่มคนปฏิเสธการฉีดวัคซีน เพื่อให้เห็นประโยชน์ของการฉีดวัคซีนด้วย ตั้งเป้าหมายรณรงค์ให้ปีหน้าเป็นปีแห่งการฉีดวัคซีนบูสเตอร์ หรือวัคซีนเข็มกระตุ้น สำหรับคนไทยด้วย
ล่าสุด คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค เห็นชอบ 2 เรื่องคือ 1. เห็นชอบฉีดวัคซีนป้องกันโควิดเข็มที่ 4 กระตุ้นภูมิคุ้มกันให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข และบุคลากรด่านหน้า รวมทั้งกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ 2. เห็นชอบให้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิดแก่เด็กอายุ 5-11 ปี โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)อนุมัติแล้ว แต่เป็นไปด้วยความสมัครใจและยินยอม
ชี้ช่วงเปลี่ยนผ่านจากเดลตาสู่โอมิครอน
“นายกฯกล่าวด้วยว่า ขณะนี้เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของสถานการณ์ เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านการระบาดของสายพันธุ์เดิมคือ เดลต้า ไปสู่โควิดโอมิครอน ที่ท้าทายระบบป้องกันควบคุมโรคที่ไทยและทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ รัฐบาลและศบค.จำเป็นต้องดำเนินมาตรการเข้มข้น ระงับการเดินเข้าประเทศแบบ Test and Goและ Sandbox ชั่วคราว ซึ่งรัฐบาลเข้าใจและเห็นใจผู้ประกอบการ ภาคเอกชน ที่อาจต้องปรับรูปแบบการประกอบการให้เข้ากับสถานการณ์และความจำเป็นในระยะนี้ ซึ่งทุกฝ่ายต้องช่วยกันด้วยการดำเนินกิจกรรมได้ภายใต้มาตรการ COVID Free Setting และขอให้ทุกคนปฏิบัติตาม Universal Prevention อย่างเคร่งครัด รวมถึงตรวจ ATK เป็นระยะ” นายธนกร กล่าว
นายกฯสั่งเข้มงวดคัดกรองนทท.
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลโดย ศบค.ปรับมาตรการเข้าราชอาณาจักรชั่วคราว หลังมีการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนในหลายประเทศ นายกฯมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งด้านสาธารณสุข คมนาคม การท่องเที่ยว การต่างประเทศ เร่งชี้แจงแนวทางดำเนินการของรัฐบาลให้ภาคธุรกิจเอกชน นักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศให้เกิดความเข้าใจแนวทางควบคุมโรคของประเทศไทย ทั้งนี้ นายกฯกำชับให้ทุกหน่วยงานเตรียมระบบงาน ให้พร้อมรับกับมาตรการที่จะเข้มงวดขึ้น โดยเฉพาะในส่วนการคัดกรองและติดตามผู้ที่ได้รับอนุมัติให้เดินทางเข้าประเทศไทย เช่นกลุ่มที่เข้าประเทศรูปแบบ Test&Go จำนวน 2 แสนคน รวมถึงกลุ่มที่เข้าประเทศด้วยรูปแบบภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ที่ยังเปิดให้เข้าตามปกติ
ทั้งนี้ นายกฯรับทราบปัญหาระบบติดตามนักท่องเที่ยว ที่ผู้ประกอบการโรงแรมสะท้อนระหว่างการประชุมชี้แจงของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) เมื่อวันที่ 22 ธันวาคมว่า ขณะนี้มีนักท่องเที่ยวบางส่วนที่ไม่สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นหมอชนะได้ เนื่องจากมีปัญหาทางเทคนิคระหว่างระบบของหมอชนะกับระบบไทยแลนด์พาส ซึ่งส่วนนี้นายกฯกำชับหน่วยงานที่ดูแลระบบให้ร่วมกันแก้ปัญหาหาแนวทางรองรับให้เร็วที่สุด เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวและประสิทธิภาพติดตามผู้เดินทางเข้าประเทศต่อไป