ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ นับว่าเป็นข่าวดีสำหรับพี่น้องผู้ใช้แรงงานไทยทั่วประเทศกับการส่งสัญญาณในครั้งนี้ หลังจากประเทศไทยเผชิญสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น
เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าเดือนกันยายนนี้กระทรวงแรงงาน จะนำข้อเสนอปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้มีผลบังคับใช้ภายในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ จากเดิมกำหนดไว้ช่วงต้นปี 2566
ซึ่งบรรดาผู้ใช้แรงงานมีความหวังว่าการปรับขึ้นค่าแรงควรจะยึดถือเท่ากันทุกจังหวัด เพื่อให้เหมาะสมกับค่าครองชีพในปัจจุบัน
เสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีช่วงต้นเดือนกันยายน
จากประเด็นเรื่องนี้ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ออกมาเปิดเผยถึงการนำเสนอเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในช่วงต้นเดือนกันยายน 2565 ให้ได้ เพื่อให้มีผลบังคับใช้วันที่ 1 ตุลาคม 2565
ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนหารือกับสภานายจ้างว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะปรับให้เร็วขึ้น เพราะสินค้าอุปโภคบริโภคปรับตัวไปแล้ว โดยมอบนโยบายให้ปลัดกระทรวงแรงงานประชุมคณะกรรมการค่าจ้างจังหวัด ซึ่งขณะนี้ประชุมครบทุกจังหวัดแล้ว และได้ตัวเลขมาหมดแล้ว จะต้องทำให้จบภายในเดือนสิงหาคมนี้ โดยจะมีการเกลี่ยตัวเปอร์เซ็นต์การขึ้นค่าแรงของแต่ละจังหวัดให้เหมาะสม ซึ่งข้อเท็จจริงตัวเลขแต่ละจังหวัดต่างกัน 1-2 บาท และแบ่งเป็นหลายช่วง กำลังปรับขึ้นให้อยู่โดยจะทำทั้งหมด 12 ช่วง
ตัวเลขขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะไม่เท่ากันทุกจังหวัด
สำหรับตัวเลขจะไม่เท่ากันทุกจังหวัด และเป็นไปไม่ได้ที่จะขึ้นพร้อมกันทุกจังหวัด เพราะผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) แต่ละจังหวัดไม่เหมือนกัน ส่วนตัวเลขค่าแรงขั้นต่ำที่กำหนดเพิ่มขึ้นร้อยละ 5-8 มีพื้นฐานการตั้งตัวเลขมาจากจีดีพีและภาวะเงินเฟ้อ
การขึ้นค่าแรงต้องสอดคล้องกับสถานการณ์ค่าของชีพของแต่ละจังหวัด ซึ่งการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ มองว่าเป็นเรื่องช่วงเวลา
ภาคเอกชนเห็นด้วยให้ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ออกมาเปิดเผยเรื่องดังกล่าวเช่นกันว่า แนวโน้มการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอีก ร้อยละ 5-8 เชื่อว่าภาคเอกชนเองเห็นด้วยที่จะให้ปรับขึ้นค่าแรง
ปัจจุบันจะเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจบ้างแล้ว และเชื่อว่าหากปรับค่าแรงขึ้นแรงงานที่จะได้ 5-8 ล้านคน จะส่งผลดีต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจในเชิงบวก และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ร้อยละ 0.1 – 0.2 โดยมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ เดือนละ 1,500-2,400 ล้านบาท หรือปีละกว่า 20,000-30,000 ล้านบาท
ขณะที่นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ประเมินว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ จะกระทบต่อต้นทุนผู้ประกอบการตั้งแต่ ร้อยละ 5-20 เมื่อต้นทุนสูงขึ้นก็จะส่งต่อไปยังผู้บริโภค ดังนั้นการปรับค่าแรงขั้นต่ำต้องพิจารณาให้รอบคอบ
ปรับในระดับ 3-4% สามารถปรับขึ้นได้และมีความเป็นไปได้
ด้านมุมมองของนายเอกสิทธิ์ คุณานันทกุล ประธานสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย (ECOT) เปิดเผยว่า สำหรับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำควรจะอยู่ในระดับที่เหมาะสม คาดว่าถ้าปรับในระดับ 3-4% สามารถปรับขึ้นได้และมีความเป็นไปได้ในระดับที่ไม่สูงมากนัก หากขึ้นระดับสูงผู้ประกอบการจะเดือดร้อน เพราะธุรกิจไม่สามารถดำเนินการต่อได้ และคนที่เดือดร้อนก็คือลูกจ้าง
นอกจากนี้ จากกระแสข่าวอัตราค่าจ้างจะขึ้นระดับ 5-8% ต้องดูความเหมาะสม ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการไตรภาคีกำลังหารือและพิจารณาถึงตัวเลขที่เหมาะสม เนื่องจากปัจจุบันนายจ้างมีปัญหาพอสมควร และพยายามปรับตัว โดยการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำธุรกิจ
ดังนั้น ตัวเลขที่จะออกมาต้องเหมาะสม และมองว่าอัตราค่าแรงงานที่เตรียมปรับขึ้น 5-8% เป็นกรอบอัตราที่ค่อนข้างสูง ถ้ามองกลางๆ 3-5% ค่อนข้างเหมาะสม อีกทั้ง ไม่อยากให้มองเรื่องค่าแรงเป็นหลัก อยากให้มองเรื่องการทำงานที่ดีขึ้นสำหรับการทำงานมากกว่า
ทั้งนี้ การพิจารณาการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำได้กำหนดพื้นที่นำร่อง ได้แก่ พื้นที่จังหวัดกรุงเทพมหานครและปริมณฑล พื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และจังหวัดภูเก็ต เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจสูง
ส่องอัตราค่าแรงขั้นต่ำที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
สำหรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในปัจจุบัน ที่มีการประกาศบังคับมาใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2563 อยู่ระหว่าง 313-336 บาท แตกต่างไปตามพื้นที่เศรษฐกิจ ถ้าหสกเทียบแล้วเป็นระยะเวลาถึง 2 ปี โดยยังไม่ได้มีการพิจารณาปรับค่าจ้างขั้นต่ำให้กับผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ตารางค่าแรงขั้นต่ำ ตามประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง (ฉบับที่ 10)
ค่าแรงขั้นต่ำ (บาท/วัน) |
จังหวัด |
336 | ชลบุรี และภูเก็ต |
335 | ระยอง |
331 | กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร |
330 | ฉะเชิงเทรา |
325 | กระบี่ ขอนแก่น เชียงใหม่ ตราด นครราชสีมา พระนครศรีอยุธยา พังงา ลพบุรี สงขลา สระบุรี สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี หนองคาย และอุบลราชธานี |
324 | ปราจีนบุรี |
323 | กาฬสินธุ์ จันทบุรี นครนายก มุกดาหาร สกลนคร และสมุทรสงคราม |
320 | กาญจนบุรี ชัยนาท นครพนม นครสวรรค์ น่าน บึงกาฬ บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ พัทลุง พิษณุโลก เพชรบุรี เพชรบูรณ์ พะเยา ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย สระแก้ว สุรินทร์ อ่างทอง อุดรธานี และอุตรดิตถ์ |
315 | กำแพงเพชร ชัยภูมิ ชุมพร เชียงราย ตรัง ตาก นครศรีธรรมราช พิจิตร แพร่ มหาสารคาม แม่ฮ่องสอน ระนอง ราชบุรี ลำปาง ลำพูน ศรีสะเกษ สตูล สิงห์บุรี สุโขทัย หนองบัวลำภู อุทัยธานี และอำนาจเจริญ |
313 | นราธิวาส ปัตตานี และยะลา |
แน่นอนว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในครั้งนี้ พี่น้องแรงงานไทยต่างคาดหวัง เพราะที่ผ่านมาไม่ได้มีการปรับขึ้นเลยมาเป็นเวลาถึง 2 ปี ซึ่งเสียงเรียกร้องที่แรงงานไทยคือต้องการให้ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 492 บาทให้เท่ากันทั่วประเทศ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะค่าครองชีพ งานนี้จะเป็นเช่นนั้นได้หรือไม่ต้องรอผลการพิจารณากันต่อไป