สยามรัฐออนไลน์
22 สิงหาคม 2563 20:36 น.
ภูมิภาค
เมื่อเวลา 16.00 น.วันที่ 22 ส.ค.ผู้สื่อข่าวจังหวัดบึงกาฬรายงานว่า จากการที่มีฝนตกลงมาต่อเนื่เองมาเป็นระยะเวลานานเกือบ 1 เดือน ทำให้เกิดน้ำท่วมขังตามทุ่งนา สวนยางพาราและสวนปาล์มน้ำมันที่ตั้งอยู่ในที่ลุ่มต่ำเกิดน้ำท่วมขังชาวบ้านหวั่นนาข้าวจะเน่าตาย ส่วนน้ำในแม่น้ำโขงก็เริ่มจะหนุนสูงไหลหลายลำห้วยน้ำโขงเริ่มไหลเข้า ส่วนน้ำในลำห้วยกำแพงน้ำไหลออกสู่น้ำโขงเป็นไปด้วยความเชื่องช้าโดยเช้าวันนี้ที่จุดวัดระดับน้ำในแม่น้ำโขง บ้านพันลำ หมู่ที่ 2 เทศบาลเมืองบึงกาฬ อ.เมืองบึงกาฬ จ.บึงกาฬ วัดได้ 10.30 เมตร หากจากตลิ่ง 3.70 เมตร สูงขึ้นกว่าวานนี้ 30 ซม. ซึ่งถือว่าเป็นระดับน้ำที่สูงที่สุดในรอบ 2 ปี เทียบกับปี 2563 – 2563 และยังมีแนวโน้นจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างเรื่อยๆ
ศูนย์ประมวลและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ โครงการชลประทานบึงกาฬ สรุปสถานการณ์น้ำในเขตจังหวัดบึงกาฬ ในวันนี้ว่าอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง จำนวน 2 แห่งปริมาณเก็บกัก 4.360 ล้าน.ลบ.เมตร ปัจจุบันมีปริมาณ 4.525 ล้าน ลบ.เมตร คิดเป็น 103.42% เก็บกัก / อ่างเก็บน้ำขนาดเล็กในความดูแลกรมชลประทาน จำนวน 7 แห่งปริมาณเก็บกัก 23.137 ล้าน.ลบ.เมตร ปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 23.954 ล้าน ลบ.เมตรคิดเป็น 103.53% เก็บกัก
อ่างเก็บน้ำขนาดเล็กในความดูแลของ อปท.จำนวน 44 แห่ง ปริมาณเก็บกัก 21,874 ล้าน.ลบ.เมตร. ปัจจุบัน มีปริมาณน้ำ18,706 ล้าน ลบ.เมตรคิดเป็น 85.52% เก็บกัก รวมอ่างเก็บน้ำจำนวน 53 แห่ง ปริมาณเก็บกัก 49.371 ล้าน.ลบ.เมตรปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 47.185 ล้าน.ลบ.เมตรคิดเป็น 95.57 % เก็บกัก ซึ่งอยู่ในข่ายต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
ส่วนปริมาณฝนที่ตกลงมาสะสมในพื้นที่มีมากกว่า 2,227.8 มม.ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลลงหนองกุดทิง ต.โนนสมบูรณ์ อ.เมืองบึงกาฬ พื้นที่ชุ่มน้ำโลกเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ศาลากลางจังหวัดบึงกาฬ เหมือนเมื่อปี 61 ที่ผ่านมา
ด้านนายสนิท ขาวสอาด ผวจ.บึงกาฬ หลังจากประชุมแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้สั่งการให้ นายธีระพล ขุนพานเพิง นอภ.เมืองบึงกาฬ นำกำลัง อส.และเจ้าหน้าที่ฝ่ายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เทศบาลเมืองบึงกาฬ ประชาชนและจิตอาสากว่า 50 นาย พร้อมเรือท้องแบนนำอุปกรณ์พร้อมมีด คลาด เข้ากำจัดผักตบชวา จอกหูหนูและจอกแหน ที่ไหลมาติดค้างปิดกั้นทางน้ำไหลบริเวณสะพานห้วยกำแพง บ้านท่าโพธิ์ หมู่ 6 ซึ่งถือว่าเป็นลำห้วยสาขารับน้ำจากหนองกุดทิง ก่อนที่จะไหลผ่านลงไปสู่แม่น้ำโขง เป็นการเปิดทางน้ำ และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำให้ไหลสะดวก รวดเร็วแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังลดวัชพืช และถือเป็นการรักษาสภาพแวดล้อมด้วย
ด้านกรมอุตุนิยมวิทยาได้พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า ร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน และประเทศไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้มีฝนตกหนักบางพื้นที่บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก กับมีฝนตกหนักมากบางแห่งในภาคเหนือ ขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากซึ่งทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีเมฆมาก มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร และชัยภูมิ อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-32 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม.