เดือนกันยายน 2565 ที่ผ่านมา ภาวะตลาดหุ้นไทยซบเซา ซึ่งลงจากความกังวลด้วยปัจจัยหลักว่าเศรษฐกิจทั่วโลกถดถอย หลังเงินเฟ้อทุกประเทศคงพุ่งขึ้นอยู่ระดับสูง โดยเฉพาะเงินเฟ้อสหรัฐจากช่วงเดือนสิงหาคมอยู่ที่ 8.3% ส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องในช่วงเดือนกันยายนที่ระดับ 0.75% สู่ระดับ 3.00-3.25%
โดยผลตามมาทำให้เงินดอลลาร์แข็งค่า และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปีพุ่งขึ้นช่วงเดือนกันยายนเหนือ 4% สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2550 รวมถึงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี และ 30 ปี ปรับตัวขึ้นเหนือ 3.5% เช่นกัน ผลดังกล่าวส่งผลให้เกิดแรงเทขายสินทรัพย์เสี่ยงออกมาโดยเฉพาะหุ้น
ทั้งนี้ทำให้ช่วงเดือนกันยายนเกิดเงินไหลออก (ฟันด์โฟลว์) จากตลาดหุ้นไทยอย่างชัดเจน เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติเทขายสุทธิออกต่อเนื่องตลอดทั้งเดือน โดยมูลค่าการขายสุทธิสะสมตั้งแต่วันที่ 1– 30 กันยายน 2565 จำนวน 24,366.11 ล้านบาท ผสมโรงนักลงทุนสถาบันในประเทศ (กองทุน) ขายสุทธิจำนวน 5,561.15 ล้านบาท
สำหรับแรงเทขายทำกำไรออกมาของนักลงทุนต่างชาติและกองทุนหนีไม่พ้นหุ้นกลุ่ม SET50 หรือ “บลูชิพ” ซึ่งหากดูภาพรวมของดัชนี SET50 ปรับตัวลงอย่างชัดเจน เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2565 ปิดที่ระดับ 996.33 จุด ขณะที่ ณ วันที่ 30 กันยายน 2565 ปิดที่ระดับ 954.44 จุด โดยปรับตัวลง 41.89 จุด หรือลงไป 4.20% ซึ่งหากแยกเป็นรายตัวจาก 50 บริษัท พบว่ามีหุ้นที่ราคาปรับตัวขึ้นเพียง 11 บริษัท แต่หุ้นที่ราคาปรับตัวลงมากถึง 47 บริษัท และหุ้นที่ราคาไม่เปลี่ยนแปลง 2 บริษัท
อย่างไรก็ตามจากแรงเทขายหุ้นบลูชิพออกมาทำให้ดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET Index) ช่วงเดือนกันยายนปรับตัวลง 49.42 จุด หรือลงไป 3.02% สำหรับดัชนีเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2565 ปิดอยู่ที่ 1,638.93 จุด ขณะที่ ณ วันที่ 30 กันยายน 2565 ปิดที่ระดับ 1,589.51 จุด ซึ่งเห็นได้ว่าดัชนีอ่อนตัวลงจนหลุดแนวรับสำคัญ 1,600 จุด
ขณะที่ดัชนี SET50 และ SET Index ปรับตัวลง กลับมีหุ้นปรับตัวชนะดัชนีช่วงเดือนกันยายนจนสามารถให้ผลตอบแทนแก่นักลงทุน ได้แก่ TRUE ราคาหุ้นปรับตัวขึ้น 10.75% , TU ราคาหุ้นปรับตัวขึ้น 6.86% , DTAC ราคาหุ้นปรับตัวขึ้น 5.81%, BEM ราคาหุ้นปรับตัวขึ้น 5.14%, BH ราคาหุ้นปรับตัวขึ้น 5.09%, AWC ราคาหุ้นปรับตัวขึ้น 3.57%, EA ราคาหุ้นปรับตัวขึ้น 3.52%, GLOBAL ราคาหุ้นปรับตัวขึ้น 2.55%, GULF ราคาหุ้นปรับตัวขึ้น 2.44%, ADVANC ราคาหุ้นปรับตัวขึ้น 1.56% และ BDMS ราคาหุ้นปรับตัวขึ้น 0.85%
นอกจากนี้แนวโน้มราคาหุ้นทั้ง 11 บริษัทที่ปรับตัวขึ้นชนะดัชนีช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา คาดว่าอาจมีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อเนื่องได้ในช่วงถัดไป เนื่องจากยังมีปัจจัยบวกเฉพาะตัว ประกอบกับทางนักวิเคราะห์ประเมินทิศทางผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2565 และปี 2565-2566 เติบโตแข็งแกร่งต่อเนื่อง
ตัวอย่างเช่น บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU มีบทวิเคราะห์จากบล.ทรีนีตี้ ประเมินว่า กำไรไตรมาส 3 ปี 2565 อยู่ที่ 2,020 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24% จากไตรมาสก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 4% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน ซึ่งได้แรงหนุนจากปัจจัยฤดูกาล เงินบาทที่อ่อนค่า และการปรับขึ้นราคาขายเพื่อ สะท้อนต้นทุน ซึ่งส่งผลให้ทั้งรายได้และอัตรากำไรขั้นต้นปรับตัวดีขึ้น แม้ว่าธุรกิจ Red Lobster ยังขาดทุน แต่คาด Avanti Feeds จะมีผลการดำเนินงานดีขึ้น ส่งผลให้ส่วนแบ่งขาดทุนจากบริษัทร่วมลดลง
นอกจากนี้ปรับขึ้นประมาณการกำไรปี 2565 ขึ้น 8% มาอยู่ที่ 6,947 ล้านบาท (ลดลง 13% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน และกำไรปี 2566 ขึ้น 6% มาอยู่ที่ 7,557 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน เพื่อสะท้อน แนวโน้มค่าเงิน และผลจากการปรับขึ้นราคาขาย อย่างไรก็ตามธุรกิจฟื้นตัวดีบวกกับมีผลบวกเชิงจิตวิทยาจากการเข้าตลาดของ ITC จึงคงคำแนะนำ “ซื้อ” ให้ราคาเป้าหมาย 21 บาท
บริษัท สยามโกลบอลเฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ GLOBAL มีบทวิเคราะห์จากบล.ฟิลลิป ประเมินว่ากำไรสุทธิไตรมาส 3 ปี 2565 อยู่ที่ 731 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.0% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นผลมาจากยอดขายเพิ่มขึ้น4.2% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน โดยจากสาขาเดิม (SSSG) เพิ่มขึ้น 3-5% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน เติบโตเล็กน้อยจากฐานสูงในช่วงเดียวกันปีก่อน (SSSG เพิ่มขึ้น 12.6%) เนื่องจากสาขาส่วนใหญ่กระจายตามต่างจังหวัดทำให้แทบไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ บวกกับเปิดสาขาใหม่เพิ่ม 1 แห่ง (จังหวัดบึงกาฬ) ส่งผลให้ ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 65 มีจำนวนสาขาทั้งหมดเป็น 77 แห่ง
ขณะเดียวกันอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 24.9% เพิ่มขึ้น 118.7% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน แต่คาดรับรู้ส่วนแบ่งกำไรบริษัทร่วมเพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนเป็น 33 ล้านบาท จากธุรกิจในพม่า, ลาว, อินโดฯ ที่ยังเติบโตดี และไม่มีรายการพิเศษเหมือนไตรมาสก่อน (One Time Item จากการเข้าลงทุนในอินโดฯ เมื่อปลายปี 2564 จำนวน 20 ล้านบาท) ชดเชย SG&A/Sales แม้ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 15.5% แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2 ปี 2565 ที่ 14.3% แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 24.00 บาท
บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด(มหาชน) หรือ BDMS มีบทวิเคราะห์จากบล.กรุงศรี ประเมินว่ากำไรไตรมาส 3 ปี 2565 อยู่ที่ 2.9 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% จากไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากรายได้จากผู้ป่วย non-COVID เพิ่มขึ้น 11% ทั้งจากผู้ป่วยชาวไทยและต่างชาติ ซึ่งสามารถชดเชยรายได้จากโควิด-19 ที่ลดลงมากได้ ลงไป 32% แต่คาดกำไรงวด 9 เดือนแรกอยู่ที่ 9 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 76% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน และคิดเป็น 79% ของประมาณการกำไรปี 2565 พร้อมคาดกำไรมีแนวโน้มแข็งแกร่งในไตรมาส 4 ปี 2565 โดยยังคงคำแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 34.00 บาท