ไทยพีบีเอสตรวจสอบโครงการก่อสร้างโรงงานแปรรูปยางพารา จ.บึงกาฬ ซึ่งใช้งบประมาณกว่า 193 ล้านบาท แต่มีความล่าช้าไปกว่า 3 ปี แม้ว่าในปัจจุบัน โรงงานแห่งแรกจะก่อสร้างเสร็จแล้ว แต่กลับพบว่าต้องหาเงินมาเสริมสภาพคล่องอีกว่า 60 ล้านบาท ติดตามใน THE EXIT
วันนี้ (7 ก.ค.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภาพความสำเร็จในการผลิตและจำหน่ายหมอนแปรรูปจากยางพาราของชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยาง จ.บึงกาฬ ถูกนำเสนอผ่านสื่อ ช่วงกลางปี 2561 โรงงานนี้สร้างในปี 2559 จากเงินกว่า 10 ล้านบาท ที่กู้จากธนาคารออมสิน จากนั้นในปี 2560 กลุ่มจังหวัดอีสานตอนบน อนุมัติงบกว่า 193 ล้านบาท สร้างโรงงานแปรรูปยางพาราอีก 5 แห่งในพื้นที่เดียวกัน เพื่อให้ชุมนุมสหกรณ์ฯ บริหารจัดการ และจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรูปจากยางพารา
แต่ปัจจุบันโรงงานแห่งแรก หยุดเดินเครื่องการผลิต และไม่สามารถเปิดใช้งานได้ ส่วนโรงงาน 5 แห่ง เดิมกำหนดให้แล้วเสร็จในช่วงปลายปี 2561 ก็ขยายเวลาก่อสร้างไปจนถึงปลายปีนี้ เกษตรกรหมดหวังที่จะได้ขายน้ำยางพาราให้กับโรงงาน
สตง.ตรวจสอบก่อสร้างโรงงานยางพารา
สำหรับโครงการก่อสร้างโรงงานแปรรูปยางพารา ทั้ง 5 แห่ง ใช้งบประมาณรัฐกว่า 193 ล้านบาท การก่อสร้างที่ล่าช้า ทำให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้าตรวจสอบ ส่วนข้อสังเกตที่ว่าหน่วยงานภาครัฐที่ทำโครงการ ในขณะนั้น ได้ตรวจสอบศักยภาพในการบริหารธุรกิจของชุมนุมสหกรณ์ฯ ก่อนที่จะทุ่มงบสร้างโรงงานหรือไม่
ไทยพีบีเอสพบข้อมูลว่า ปี 2559-2561 ชุมนุมสหกรณ์ฯ ขาดทุน มาโดยตลอด ข้อมูลที่ระบุว่า ปี 2560 ชุมนุมสหกรณ์ฯขาดทุนกว่า 3.5 ล้านบาท เป็นปีเดียวกับที่ภาครัฐอนุมัติงบประมาณมาสร้างโรงงาน ขณะที่เจ้าหน้าที่ให้เหตุผลว่า ชุมนุมสหกรณ์ฯ ขาดทุน เพราะถูกโกง จึงต้องช่วยเหลือให้ดำเนินกิจการได้
โรงงานเป็นทรัพย์สินแผ่นดิน – ต้องขอเช่า
การที่ชุมนุมสหกรณ์ฯ จะเดินหน้าบริหารงานโรงงานทั้ง 5 แห่ง อาจไม่ง่ายนัก เพราะโรงงานที่สร้างด้วยงบประมาณรัฐ รวมทั้งเครื่องจักร และอุปกรณ์ทั้งหมดถูกขึ้นทะเบียนเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน ชุมนุมสหกรณ์ฯ ต้องทำเรื่องขอเช่ากับกรมธนารักษ์ ค่าเช่า และค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่ายก้อนแรกอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านบาท แต่ชุมนุมสหกรณ์ฯ ขอผ่อนผันจ่ายค่าเช่า เมื่อโรงงานเดินเครื่องผลิตได้ ซึ่งยังไม่ได้รับการอนุมัติ
ส่วนความหวังที่ชุมนุมสหกรณ์ฯ จะมีเงินทุนประกอบกิจการต่อ ถูกฝากไว้กับการอนุมัติงบสนับสนุน จากการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เกือบ 60 ล้านบาท ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาโครงการที่ชุมนุมสหกรณ์ฯ เสนอ ต่อบอร์ด กยท.
กยท.วิเคราะห์ธุรกิจก่อนให้เงินสนับสนุน
การอนุมัติเงินสนับสนุนของ กยท.จะต้องวิเคราะห์ความเป็นไปได้ทางธุรกิจนี้อย่างละเอียด เช่น 1.สภาพคล่องของสหกรณ์ 2.ประสบการณ์การบริหารธุรกิจ 3.ตลาดที่รับซื้อผลิตภัณฑ์ 4.วัตถุดิบ น้ำยางพาราที่มีเพียงพอ เพราะหากอนุมัติงบประมาณให้กับชุมนุมสหกรณ์ เงินต้องถูกใช้อย่างคุ้มค่า และธุรกิจต้องไม่ขาดทุน
ขณะที่ กยท.พบความผิดปกติว่าเอกสารที่ชุมนุมสหกรณ์ฯ ต้องนำมาประกอบการเสนอของบสนับสนุน ยังขาดเอกสารสำคัญ คือ 1.ใบอนุญาตก่อสร้างอาคารฯ ออกโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ 2.ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงงาน หรือ รง 4. ออกโดยสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด
ทั้งนี้ ส่วนราชการ จ.บึงกาฬ เตรียมหารือแนวทางแก้ปัญหา เพื่อให้ชุมนุมสหกรณ์ฯ สามารถเดินหน้าบริหารโรงงานยางพาราต่อได้