09 Aug 2020 11:11 น.
อ่าน 1,184 ครั้ง
เอกชนบึงกาฬเร่งรัฐลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่อเนื่อง จากสะพานข้ามโขง 5 ขอรถไฟเชื่อมนครพนม ต่อถึงเลย เดินหน้าคลัสเตอร์ยาง สนามบิน ถนนสายใหม่ตรงเข้าอุดรธานี และตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน
บึงกาฬขอรัฐลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมต่อเนื่อง ทั้งถนน ทางรถไฟ สนามบิน พร้อมเดินหน้าคลัสเตอร์ยางพารา และตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนเพื่อบูมเศรษฐกิจ
นายเจตน์ เกตุจำนงค์ อดีตประธานหอการค้าจังหวัดบึงกาฬ และประธานสหกรณ์การเกษตรเครือข่ายสภาเกษตรกรจังหวัดบึงกาฬ เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า พิษโควิด-19 ฉุดเศรษฐกิจบึงกาฬลงกว่าครึ่ง แม้รัฐผ่อนมาตรการแต่ภาวะการค้า การลงทุน การค้าชายแดนยังไม่ฟื้น คาดต้องใช้เวลาอีกนานจึงจะเข้าสู่ภาวะปกติ
ด่านชายแดนไทย-สปป.ลาวในพื้นที่ยังไม่เปิดให้ติดต่อค้าขายระหว่างกันได้ ขณะสินค้าหลักของบึงกาฬ คือ ยางพารา ซึ่งมีพื้นที่ปลูกถึง 1.2 ล้านไร่ มากสุดของอีสาน และเป็นอันดับ 6 ของประเทศ โดยมีผลผลิตปีละประมาณ 8 แสนตัน จากเกษตรกรที่เกี่ยวข้องหลายหมื่นครัวเรือน เวลานี้จึงเดือดร้อนมาก หลายรายตัดสินใจโค่นยางหันไปปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นบ้างแล้ว
บึงกาฬยังโชคดีที่มีแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ และเชิงนิเวศจำนวนมาก เช่น น้ำตกต่างๆ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว วัดภูทอก บึงโขงหลง ภูสิงห์ เป็นต้น ซึ่งเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว ที่ทะยอยเข้ามาในพื้นที่หลังผ่อนคลายภายใต้มาตรฐานวิถีปกติใหม่ (นิวนอร์มอล) ช่วยให้เศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนเริ่มหมุนเวียนได้ระดับหนึ่ง
นายเจตน์กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามบึงกาฬมีศักยภาพในการพัฒนาอยู่อีกมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ โดยเฉพาะด้านโลจิสติกส์ เพื่อเชื่อมโยงบึงกาฬสู่เครือข่ายคมนาคมขนส่งของภูมิภาค ที่ภาครัฐควรเร่งรัดการก่อสร้างให้เป็นไปตามแผนงาน หรือลงทุนเพิ่มเติมให้ครบ ประกอบด้วย
1. การก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 ระหว่างบึงกาฬ-เมืองปากซัน แขวงบอลิคำไซ สปป.ลาว และโครงข่ายระบบโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ วงเงิน 3,930 ล้านบาท ซึ่งมีการอนุมัติลงนามใน MOU ความร่วมมือของประเทศไทย-ประเทศ สปป.ลาวเรียบร้อยแล้ว โดยจะเริ่มลงมือดำเนินการในปลายปี 2563 นี้ กำหนดแล้วเสร็จใน 3 ปี ซึ่งจะช่วยเสริมศักยภาพโครงข่ายสะพานข้ามน้ำโขงที่มีอยู่เดิม ทำให้การคมนาคมขนส่งและการสัญจร 2 ประเทศสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น
“ทางการสปป.ลาวยังมีแผนก่อสร้างทางด่วน สายเวียงจันทน์-ฮานอย หากสามารถผนวกโครงข่ายสะพานข้ามน้ำโขงที่มีอยู่เข้าไป จะเสริมศักยภาพสะพานแห่งที่ 5 นี้เพิ่มขึ้นด้วย นอกจากนี้จากบึงกาฬข้ามไปปากซัน สามารถเดินทางไปถึงท่าเรือน้ำลึกว่งอ๋างของเวียดนาม ด้วยระยะทางเพียง 150-160 กิโลเมตร สินค้าทะเลสดๆ จากทะเลจีนใต้สามารถขนส่งถึงอีสานตอนบนได้ในครึ่งวัน ในทางกลับกันพืชผลเกษตรของไทยก็สามารถไปถึงจุดหมายรวมถึงจีนตอนใต้ได้เร็วขึ้น”
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ผุดโปรเจค500ไร่สร้าง “แลนด์มาร์ค”บึงกาฬ
เปิดเที่ยว”หินสามวาฬ”1ก.ค.นี้
เวนคืน บ้าน100หลังที่นา200แปลง ตอกเข็มสะพานมิตรภาพ ‘บึงกาฬ – บอลิคำไซ’
2.บึงกาฬสนับสนุนคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.)กลุ่มจังหวัด ที่เสนอกรอ.ส่วนกลางพิจารณาข้อเสนอ โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่นครพนมเลียบน้ำโขงผ่านบึงกาฬถึงหนองคาย เพื่อเชื่อมโครงข่ายทางรถไฟให้ครบ โดยต่อจากทางรถไฟสายใหม่ขอนแก่น-มหาสารคาม-มุกดาหาร-นครพนม ที่อนุมัติก่อสร้างแล้ว นอกจากนี้่ประชุมครม.สัญจรที่เพชรบูรณ์ เห็นชอบข้อเสนอกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 โครงการก่อสร้างทางรถไฟจากจังหวัดเลย-หนองบัวลำภู-หนองคาย เป็นการเติมเต็มส่วนที่ยังขาดอยู่คือ ระหว่างหนองคาย-บึงกาฬ-นครพนม จะทำให้ระบบขนส่งทางรางมีความสมบูรณ์ครบวงจร และจะทำให้การขนส่งผลผลิตยางพาราจากบึงกาฬและจังหวัดอื่นๆ ในภาคอีสานตอนบนออกไปสู่ตลาดได้มากขึ้น และลดต้นทุนการขนส่งได้อย่างมหาศาล
“โครงการสร้างทางรถไฟนครพนม-หนองคายนั้น จะเป็นการเสริมสร้างศักยภาพของจังหวัดบึงกาฬ ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดบึงกาฬ พ.ศ. 2561-2565 ฉบับทบทวน และจะเป็นสร้างระบบเครือข่ายทางรถไฟให้เต็มรูปแบบ และสำคัญที่สุดคือจะเป็นการเสริมศักยภาพของภาคอีสานตอนบน และจังหวัดตามแนวชายแดนได้ตลอดแนวชายแดน” นายเจตน์ฯกล่าว
3.การเดินหน้าสานต่อโครงการนิคมรับเบอร์ซิตี้ จังหวัดบึงกาฬ หรือ Rubber Economic Cluster โดยสามารถใช้งบประมาณจากวงเงินกู้ 4 แสนล้าน ฟื้นเศรษฐกิจและสังคมได้ เพื่อแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ เวลานี้เหลือกิโลกรัมละ 17-19 บาทเท่านั้น โครงการนี้จะใช้พื้นที่อำเภอเซกาเป็นที่ตั้งโรงงานแปรรูปยางพาราเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ต่างๆ เช่น หมอนยางพารา การทำน้ำยางข้น ตั้งศูนย์การทำยางแห้งด้วยการเพิ่มเทคนิคอัดรีด เพื่อลดต้นทุนลดมลภาวะด้านกลิ่น การจัดตั้งศูนย์รับรองคุณภาพน้ำยางข้นตามมาตรฐาน FSC. เพื่อให้สามารถส่งน้ำยางข้นไปขายให้ลูกค้าในรูปของน้ำยางข้นได้ เป็นการช่วยยกระดับราคายางให้สูงขึ้น ทำให้เศรษฐกิจในพื้นที่แข็งแกร่งขึ้น
4.แผนการศึกษาก่อสร้างสนามบินบึงกาฬในพื้นที่อำเภอเมืองบึงกาฬ เนื้อที่ 4,700 ไร่
5. การก่อสร้างทางหลวงแผ่นดินเส้นใหม่ บึงกาฬ-อุดรธานี ระยะทาง 139 กิโลเมตร เพื่อช่วยลดระยะทางจากปัจจุบันที่ต้องผ่านหนองคาย รวมระยะทางกว่า 200 กิโลเมตรลง ทำให้อุดรธานีไปถึงชายทะเลเวียดนามระยะทางเพียง 300 กิโลเมตรใกล้กว่าไปชายทะเลภาคตะวันออกเสียอีก
นายเจตน์ฯได้กล่าวอีกว่า ประการที่ 6. อยากขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาล กำหนดพื้นที่จังหวัดบึงกาฬเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน เพื่อที่จะได้สิทธิประโยชน์ในการดำเนินด้านต่างๆ โดยได้เสนอเรื่องสู่กรอ.กลุ่มจังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 แล้ว เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหายางพารา โดยบึงกาฬเป็นจังหวัดชายแดนแห่งเดียวที่ยังไม่ไดัรับการสนับสนุนจากรัฐ
จังหวัดบึงกาฬ ตั้งเมื่อปี 2554 โดยแยกอำเภอบึงกาฬ อำเภอเซกา อำเภอโซ่พิสัย อำเภอบุ่งคล้า อำเภอบึงโขงหลง อำเภอปากคาด อำเภอพรเจริญ และอำเภอศรีวิไล จากจังหวัดหนองคาย ออกมาตั้งเป็นจังหวัดใหม่ อยู่ริมแม่น้ำโขง ฝั่งตรงข้ามคือเมืองปากซัน แขวงบอลิคำไซ สปป.ลาว
หน้า 17 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,599 วันที่ 9 – 12 สิงหาคม พ.ศ. 2563
ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อน กับ LINE @thansettakij